“แอตลาส” ไททัน จากเทพผู้แบกโลกา ...สู่ยักษาผู้แบกพระเจดีย์ โดย ศุภศรุต
ที่มา:
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=574341เทพเจ้า “แอตลาส” เป็นเทพเจ้าลูกผสมระหว่างเทพและยักษ์อสูร เป็นโอรสของ “เทพไออาพิทัส” เทพแห่งสงคราม กับ “คลิมีน” เทพธิดาแห่งมหาสมุทร ในสายวงศ์ตระกูลยักษ์อสุรา “ไททัน” (Titans) (ชื่อเดียวกับรุ่นของรถกระบะบางยี่ห้อนั่นแหละครับ)
“ตระกูลไททัน” เป็นตระกูลยักษ์อสูรสาแหรกที่ “เก่าแก่ที่สุด” ในอารยธรรมกรีก ที่มีกำเนิดเริ่มต้น “ตำนาน (Myth) - คติความเชื่อ” ยาวนานกว่า 4,000 – 5,000 ปี ตระกูลนี้ เป็นลูกหลาน ของ “เทพอูรานัส (Ouranos)” ผู้ปกครองแผ่นดินสวรรค์โอลิมปัส กับ “นางจีอา (Gaea)” เทพีแห่งพื้นพิภพ
ในยุคต่อมา เมื่ออารยธรรมกรีกในภาค “มนุษย์” แปรเปลี่ยนแกนอำนาจของ “ผู้ปกครอง” ตำนาน “เทพปกรณัม” ของเหล่าเทพเจ้าก็ได้เกิดการ “สร้างเรื่อง” ผลัดเปลี่ยนผู้ครองโอลิมปัสใหม่ เล่าผ่านเป็นเรื่องราวของ “มหาสงคราม” ระหว่างเทพเจ้าครั้งใหญ่
เมื่อเทพเจ้า “โครโนส” โอรสเทพอูเรนัส สายตระกูลไทตันอสูรได้สังหารพระบิดา และขึ้นปกครองสรวงสวรรค์โอลิมปัส เหล่าเทพอสูรไตตันได้ปกครองสวรรค์ในยุคแรก ๆ
ต่อมาได้เกิด “มหาสงคราม” ระหว่างเทพเจ้ายุคใหม่ ที่มี “ซูส” หรือ “ซีอุส” โอรสของโครโนสเอง กับเหล่าเทพเจ้าเก่าแก่ตระกูล “ไททัน” ที่มี เทพบิดา “โครโนส” เป็นผู้นำ
ในมหาสงคราม “เทพแอตลาส” ผู้เป็นหลานเทพบิดาโครโนส ลูกครึ่งยักษ์อสูร เป็น ”จอมทัพ” คุมไพร่พลไททันเข้าต่อกรกับเทพเจ้ารุ่นใหม่
มหาสงครามแห่งเทพ “ผู้ครองฟ้า” กินเวลายาวนาน มีการทำลายล้างอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายไปทั่วทุกหัวระแหง จนในที่สุด ฝ่ายเทพรุ่นใหม่อย่าง “ซีอุส – ซุส” (Zeus) ก็สามารถเอาชนะพระเทพบิดา ”โครโนส” ได้เป็นผลสำเร็จ
และเมื่อฝ่าย “อสูรไททัน” เป็นฝ่ายปราชัย เทพซูสในฐานะผู้ชนะ ก็ได้ลงโทษบรรดาเหล่าเทพเจ้าผู้แพ้ด้วยการทรมานให้ได้รับทุกขเวทนาในขุมนรก “ตรุทาร์ทะรัส”
และด้วยเทพ “แอตลาส” ผู้เป็นขุนทัพฝ่ายไททัน จึงต้องโทษทัณฑ์ที่หนักหนากว่าผู้อื่น โดยจะต้องมาทำหน้าที่ “แบกสวรรค์ไว้บนบ่า” ไปตลอดกาล !!!
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ชื่อของ “แอตลาส” อสูรผู้พ่ายแพ้ที่เก่าแก่ ได้เลือนหาย “สาบสูญ” ไปจากความทรงจำของอารยธรรมมนุษย์ แต่โชคดีที่มีนักปรัชญา นักคิดภูมิศาสตร์ชาวเบลเยียม นาม เกอราดุส เมอร์คาเทอร์ (Gerardus Mercator) ได้นำ “ชื่อ” เทพผู้แบกสวรรค์ มาใส่ไว้บนหน้าปกหนังสือ "Atlas, or Cosmographical Meditations on the Frame for the World and its Form” นับเป็นหนังสือ “แผนที่โลก" ที่มีทันสมัย ก้าวหน้าในยุคศตวรรษที่ 16 เขาได้วางรูปเทพแอตลาสที่กำลังแบกสวรรค์ (ลูกโลก) ไว้บนหน้าแรกเคียงคู่กับชื่อหนังสือ เพื่อเป็นการสดุดี
และด้วยเหตุผลนี้ ชื่อของ “แอตลาส” จึงได้กลายมาเป็นชื่อหนังสือ “แผนที่โลก” เป็น “แบบแผน” ที่ผู้คนในรุ่นหลังจะเรียกหนังสือประเภทนี้ว่า “แอตลาส” สืบต่อมาจนถึงในทุกวันนี้ครับ !!!
และด้วยอิทธิพลของหนังสือแผนที่โลก ที่มีที่มาจากเรื่องราวตำนานแห่งเทพผู้แบกสวรรค์ไว้บนบ่า นามของเทพ “แอตลาส” ก็ได้กลายมาเป็น “ชื่อ” กระดูกสันหลังของมนุษย์ ตรงข้อต่อแรก ช่วงต่อระหว่างคอกับบ่าของมนุษย์ ในวงการแพทย์อีกด้วย
ส่วนรูปลักษณ์งานศิลปกรรมในยุคคลาสลิค “เฮเลนิสติค” (Hellenistic) ก็มักจะนิยมสร้างเป็นรูปบุคคลเสมือนจริงทำท่าแบก “โลกกลม” ที่แทนความหมายถึง “สรวงสวรรค์” และในยุคกลางของยุโรป รูป “ลูกโลก” บางแห่งก็จะเปลี่ยนไปเป็น รูป “เสาค้ำโลกา” แทนลูกกลม ซึ่งทั้งหลายก็ล้วนแต่แทนความหมายของ “แอตลาส” อสูรไททันผู้พ่ายแพ้ ...ทั้งสิ้น !!!