หอนาฬิกามหาวิทยาลัยจันทรเกษม เป็นหอนาฬิการูปทรงสี่เหลี่ยม ทาสีดำ มีหน้าปัดนาฬิกา ๔ ด้าน ตั้งบนฐานทรงกลมอยู่กลางสระน้ำ มีเสียงระฆังบอกเวลาทุกชั่วโมง นับเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม หอนาฬิกานี้สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ ในสมัยที่ นายพงศ์อินทร์ ศุขขจร เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม โดยมี นายศุภสิทธิ มหาคุณ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏนามผู้ออกแบบ ปัจจุบัน ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ ถึงแม้ว่า หอนาฬิกานี้จะมีอายุยาวนานกว่า ๓๖ ปีแล้ว ก็ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการบอกเวลา เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาวจันทรเกษมทุกรุ่นนับแต่อดีตถึง ปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ การสร้างหอนาฬิกานี้ ผู้สร้างมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์ของวิทยาลัยครูจันทร เกษมสมัยเริ่มแรก ให้มีความสวยงาม แปลกตา และเป็นที่หมายตา (landmark)ของชาวจันทรเกษม และบุคคลทั่วไปและใช้ประโยชน์เพื่อเป็นนาฬิกาบอกเวลา หอนาฬิกาจันทรเกษม และปัจจุบันเป็นสัญลักษณ์โดดเด่น อีกแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
ประวัติความเป็นมา หอนาฬิกามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ปัจจุบัน มีอายุถึง ๓๖ ปี (๒๕๑๕-๒๕๕๑) นับได้ว่า เป็นประติมากรรมอีกชิ้นหนึ่ง ที่มีความสำคัญที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สำหรับสืบค้นเรื่องราวในอดีตจากการสืบค้นทั้งจากหลักฐานเชิงประจักษ์ และข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ สอบถามผู้รู้ (key performance) ซึ่งเป็นอาจารย์และบุคลากรหลายท่านที่ได้มีส่วนร่วมอยู่ในประวัติศาสตร์ยุค นั้น ทั้งในและนอกรูปแบบ ทำให้ได้ข้อสรุปที่แน่นอนในเรื่องวันเวลาและประวัติความเป็นมา จากการตรวจสอบข้อความที่บันทึกไว้ที่แผ่นป้ายของหอนาฬิกาจันทรเกษม เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน แน่นอน เพราะมีบันทึกวันเวลาที่หอนาฬิกาได้สร้างสำเร็จสมบูรณ์ เมื่อปี ๒๕๑๕ โดยมีคุณศุภสิทธิ มหาคุณ เป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณ จากข้อความในบันทึกปรากฎไว้ว่า นายศุภสิทธิ มหาคุณ สร้างให้ พุทธศักราช ๒๕๑๕ หอนาฬิกาจันทรเกษม เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๑๓ จนเสร็จสิ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๑๕ ใน สมัยที่ นายพงศ์อินทร์ ศุขขจร เป็นผู้อำนวยการ วิทยาลัยครูจันทรเกษม ในสมัยเริ่มแรกนั้น ยังมีอาคารเรียนเพียงหลังเดียว คือ อาคาร ๑ ผู้รู้เล่าว่าสมัยนั้น อาจารย์และนักศึกษาพักที่หอพักของวิทยาลัย อาจารย์พงศ์อินทร์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ เป็นผู้ที่มีความสามารถและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทั้งในด้านการบริหารจัดการ มีความคิดสร้างสรรค์ และ มุ่งมั่นในการนำศิลปวัฒนธรรมมาประยุกต์ ในการตกแต่งปรับปรุงภูมิทัศน์ของวิทยาลัยครูจันทรเกษมในสมัแรกเริ่ม ให้สวยงาม จึงได้ริเริ่มที่จะสร้างสัญลักษณ์ต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมที่สวยงาม สามารถใช้สอยได้ และมีความมั่นคงถาวร ซึ่งยังคงปรากฏถึงชาวจันทรเกษมในปัจจุบันนี้ อาทิ สระน้ำ ศาลาไทย เสาธง และ หอนาฬิกา ทั้งนี้เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ ประจำสถาบันสำหรับการก่อสร้างหอนาฬิกาในสมัยนั้น เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญ และมีความหมายมาก เพราะนอกจากจะได้ร่วมสร้างหอนาฬิกาแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้บุคลากรทุกคน มีความทรงจำ ที่สวยงาม ตราตรึง มิรู้ลืมเลือน หลายท่านเล่าให้ฟังว่า การสร้างหอนาฬิกา ศาลาไทย และ สระน้ำ เป็นกิจกรรมที่ทุกคนต้องช่วยกัน เช่น ขุดสระ ขนดิน ขนอุปกรณ์ ฯลฯ เหตุที่จันทรเกษมมีสระน้ำมาก ก็เพราะมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำดินไปถมถนนให้สูงขึ้น กิจกรรมดังกล่าว จึงทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความผูกพันระหว่างบุคลากรทุกคน เป็นสัญลักษณ์แห่งจิตใจ การรวมใจ และ น้ำใจไมตรีของชาวจันทรเกษม ที่มีความรักต่อสถาบันและเพื่อนพ้องน้องพี่ การสร้างสรรค์สัญลักษณ์ เหล่านี้ เกิดจากแรงกายแรงใจ และการมีจิตวิญญาณแห่งจันทรเกษมและเหตุการณ์เหล่านี้เป็นที่มาของสัญลักษณ์ ต่างๆที่มีอยู่มากมายในจันทรเกษมที่ สำนักศิลปะและวัฒนธรรมจะนำมาเล่าขานต่อไป
นับจากวันนั้น ถึงวันนี้ ภาพของหอนาฬิกาที่อยู่กลางสระน้ำ ท่ามกลางดงดอกไม้ยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งกาลเวลาที่ชาวจันทรเกษมได้เห็นและ ได้ยินอยู่ทุกวันจนชินตาชินใจ แม้วันเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป แต่หอนาฬิกาจันทรเกษม ก็ยังยืนยง คงอยู่เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่น ที่ชาวจันทรเกษมทุกรุ่น ภาคภูมิใจอีกนานเท่านาน คงเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นและน่าภาคภูมิใจตราบเท่าทุกวันนี้ แต่ถึงแม้ว่า สายน้ำจะไหลเวียนเปลี่ยนไปไม่ไหลกลับ แม้ว่า วัน เวลา จะล่วงเลยลาลับไม่กลับหลัง หอนาฬิกาจันทรเกษมแห่งนี้ยังจีรัง ฝากความหวัง ฝากความฝันที่สวยงามสำหรับชาวจันทรเกษมตลอดไป