ห้างฝรั่งในสยามในสมัยรัชกาลที่ 3 มีนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ เป็นที่รู้จักว่าเป็นพ่อค้าชาวอังกฤษ แต่จริงๆ แล้วเป็นชาวสกอต เข้ามาเมืองไทยในปีพ.ศ.2367 และเปิดห้างสรรพสินค้าต่างประเทศ โดยเช่าตึกสูงของสมเด็จพระยามหาประยุรวงศ์ หน้าวัดประยุรวงศาวาส ธนบุรี เป็นห้างสรรพสินค้า ขายทั้งผ้าฝรั่ง ผ้าแขก ยาฝรั่ง เช่น ควินิน ตอนหลังแอบขายยาฝิ่นอีกด้วย
คนไทยสมัยนั้นเรียกนายฮันเตอร์ว่า หันแตร ซึ่งนายหันแตรนี้ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอาวุธวิเศษ ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้ารายแรกในประเทศไทย และเปิดห้างในไทยได้ก่อนพ่อค้าชาวอังกฤษจริงๆ นอกจากนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นคนที่ปั้นแฝดสยามอิน-จัน ให้โด่งดังไปทั่วโลก
ส่วนผลงานของนักธุรกิจชาวอังกฤษที่เข้ามาตั้งห้างสรรพสินค้า ในไทย ก็คือนายหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ ลูกชายของแหม่มแอนนา หญิงที่เข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้พระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏในหนังสือและภาพยนตร์เรื่อง แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม (Anna and the King) สำหรับนายหลุยส์นี้มาเปิดห้างชื่อ หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ ที่สี่พระยา และยังเป็นเจ้าของกิจการอีกมากมาย
ด้านชาวอเมริกัน เข้ามาเปิดห้างสรรพสินค้าในสมัยรัชกาลที่ 4 จำนวนไม่น้อย ห้างแรกชื่อ จี.เอส.ปาร์กเกอร์ แอนด์ โก ตั้งเมื่อปีพ.ศ.2398 ต่อมาขยายกิจการออกไป เรียกชื่อใหม่ว่า ห้างปาร์กเกอร์ แอนด์ กูเดล มีนายกูเดล เป็นผู้จัดการ
ในปีพ.ศ.2400 มีอีกห้างหนึ่งแจ้งเกิดชื่อ ห้างดันน์แอนด์เกอร์เวย์ ภายหลังแยกกิจการไปทำโรง สีไฟแห่งแรกในเมืองไทย เรียกว่า อเมริกันสตีมไรซ์มิลล์ หรือโรงสีจักรเมืองอเมริกัน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 นักธุรกิจชาวเดนมาร์ก นายเอช. เอ็น. แอนเดอร์เสนเจ้าของบริษัทเอช.เอ็น แอนเสน เข้ามาตั้งห้างสรรพสินค้า พร้อมกับเปิดโรงแรมโอเรียนเต็ลโฮเต็ล หรือที่เรารู้จักว่าโรงแรมโอเรียนเต็ลในปัจจุบัน โดยเปิดบริการเมื่อปี 2430
สำหรับห้างเก่าๆ ที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แก่ ห้างแบดแมน ไม่ใช่มนุษย์ค้างคาวมา เปิด แต่ย่อจากจากชื่อเต็มว่าแฮร์รี เอ. แบดแมน แอนด์ โก เริ่มกิจการเมื่อปี 2422 อยู่แถวมุมกระทรวงมหาดไทย แต่ภายหลังย้ายมาอยู่ตึกเก่าของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ถนนราชดำเนินกลาง อีกสามห้างคือห้างแรมเซ เวกฟิลด์ แอนด์ กำปะนี และห้างเอช.อับดุลราฮิม เปิดในปี 2419 และห้างแบร์น ฮาร์ต กริมม์ เภสัชกรเยอรมัน เปิดตามมาในปี 2421 อยู่แถวปากคลองตลาด จบเรื่องราวด้วยประการฉะนี้
ที่มา:
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/ห้างแบดแมน